VTA Vertical Tracking Angle

VTA....Vertical Tracking Angle

 

          VTA คือมุมองศาในแนวตั้งของก้านเข็มที่กระทำกับแนวระนาบของแผ่นเสียง ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 20-24 องศา

 

        มุม VTA และ SRA เปรียบเสมือนสองเรื่องในเรื่องเดียวกัน... เพราะทั้ง 2 ค่าของความเปลี่ยนแปลง จะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันเสมอ กล่าวคือ ในขณะที่เราทำการปรับเซ็ตมุม VTA จุดหมายจริงๆแล้ว เราต้องการปรับมุม SRA คือปรับมุมของปลายเข็มที่กระทำกับร่องเสียง ให้ได้ใกล้เคียงกับองศาของหัวตัดแผ่นเสียง Cutting rank angle ( CRA ) ที่อยู่ในขั้นตอนของการบันทึกเสียง

       มาตรฐานที่เป็นสากลโดยส่วนใหญ่ของการผลิตหัวเข็ม....ตัวบอดี้...ก้านเข็ม...และ ปลายเข็ม จะมีความสัมพันธ์กันดังนี้คือ....เมื่อบอดี้ของหัวเข็มทำมุมขนานไปกับแนวระนาบของแผ่นเสียง ก้านเข็มก็จะทำมุม VTA กับแนวระนาบของแผ่นเสียงที่ 20-24 องศา และปลายเข็มก็จะทำมุม SRA กับแนวระนาบของร่องเสียงที่ประมาณ 90 องศา ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยอัตโนมัติ

      และความสัมพันธ์ดังกล่าว ยังต่อเนื่องมาถึงเฮ็ดเชลส์และก้านอาร์ม คือเมื่อติดหัวเข็มเข้ากับโทนอาร์ม ถ้าเซ็ตมุมของก้านอาร์มให้ขนานกับแนวระนาบของแผ่นเสียงได้แล้ว...มุมของ...หัวเข็ม...ก้านเข็ม และ ปลายเข็ม ก็จะอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตามมาด้วย

    ฉะนั้นวิธีการปรับมุม VTA อย่างง่ายๆก็คือ การเซ็ตให้ก้านอาร์ม ( Arm tube ) ขนานไปกับแนวระนาบของแผ่นเสียงในเบื้องต้น...สาเหตุที่ใช้ก้านอาร์มเป็นตัวอ้างอิงก็เพื่อ ง่ายต่อการมองเห็นและปรับเซ็ต เพราะการที่จะไปวัดองศาที่ก้านเข็มหรือปลายเข็มเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

    เหตุผลหนึ่ง...ทำไมแนะนำให้ปรับก้านอาร์มให้ขนานกับแนวระนาบของแผ่นเสียง แล้วจะได้อารมณ์ของเสียงที่ผ่อนคลายที่สุด...เพราเป็นกฎของฟิสิกส์ล้วนๆ...เมื่อแรงเหวี่ยงของคานขนานขนานกับแกนหมุน  แรงกดจะบาล๊านส์ในจุดศูนย์กลาง ทำให้การหมุนฟรีเป็นอิสระ เมื่อแบริ่งของโทนอาร์มแทร็คกิ้งได้ฟรีและเป็นอิสระ ไม่มีอาการฝืนร่อง ก็จะทำให้การปลดปล่อยชิ้นดนตรีออกมาได้อย่างอิสระ ผ่อนคลาย ไม่เครียด

    เรื่องราวของ VTA มันมีความคิดเห็นที่ย้อนแย้งกันอยู่ 2 แนวทาง

            1 . ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปรับจูน VTA มากนัก.. โดยแนวทางนี้ให้เหตุผลในเชิงทฤษฎีว่า โทนอาร์มส่วนใหญ่ที่ผลิตขื้นมาทุกตัว จะสามารถปรับระดับสูงต่ำที่ความต่าง ประมาณ 15 mm ซึ่งในระดับความต่างที่ 15 mm นี้ทำให้มุมองศาของก้านเข็มผิดเพี้ยนไปได้แค่เพียง 1 องศาเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันขั้นตอนของการตัดแผ่นและขั้นตอนของการผลิตหัวเข็ม ก็อาจมีความผิดเพี้ยนได้ตั้งแต่ 1 ถึง7 องศาแล้ว...เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้จึงมองว่าใครที่มาซีเรียสในเรื่องของการปรับจูน VTA เป็นเรื่องที่ไร้สาระ

         2.แนวคิดที่สอง ต่างกันอย่างสุดกู่กับข้อ 1 ...โดยมีความเชื่อที่ตกผลึกแล้วว่า แม้แต่ความแตกต่างแค่ 1 องศา ก็มีผลต่อคุณภาพเสียง ที่ถูกบันทึกอยู่ในร่องของแผ่นเสียงที่มีขนาดเล็กมากๆแค่ 4-100 ไมครอนเท่านั้น

 

           ........ เพราะสาเหตุที่ความต่างของมุม VTA เพียง 1 องศา มีผลต่อคุณภาพเสียงก็คือ...ในขณะที่เราปรับมุม VTA โดยการเพิ่มหรือลดระยะสูงต่ำของโทนอาร์ม...นอกจากจะทำให้มุมองศาของก้านเข็มเปลี่ยนไป ยังมีผลต่อระยะของ Overhang และน้ำหนักของแรงกด Tracking force อีกด้วย โดยเป็นไปตามความสัมพันธ์ดังนี้..

 

          1. เมื่อปรับ VTA สูง ( ท้ายอาร์มสูง ) ตำแหน่ง และค่าของ Overhang และ Tracking force จะลดลง

          2.เมื่อปรับ VTA ต่ำ ( ท้ายอาร์มต่ำ ) ตำแหน่งของ Overhang จะสั้นลง และ น้ำหนักกดของปลายเข็มที่กระทำกับร่องเสียงจะลดลง (แม้จะเพียงน้อยนิดก็ตาม)

                ซึ่งก็หมายความว่า เรากำลังปรับจูนทั้ง 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ทั้ง VTA ,Overhang,และ Tracking force ไปในคราวเดียวกัน....ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเลยไปแล้วในเรื่องของทฤษฎี เพราะเรากำลังพูดถึงการ finetune ในระดับของความรู้สึก ซึ่งต้องใช้ความชำนาญในการฟัง และเมื่อฟังเข้าใจแล้วก็ต้องรู้วิธีการแก้ไข ซึ่งจะขื้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ ทั้งนี้จะไปได้ไกลขนาดไหนก็ขื้นอยู่กับประสบการณ์ , พรสวรรค์ และขื้นอยู่กับว่า ความเข้าใจอันนั้นมีความเป็นสากลขนาดไหน

                  ....และที่สำคัญ ทำไมการ finetune ด้วยการฟังจึงเป็นสิ่งจำเป็น เหตุผลก็เพราะว่า ตำแหน่งของ VTA ในขั้นตอนของการเซ็ตอัพ กับในขั้นตอนของการ Play back จะมีค่าไม่เท่ากัน...มีผลมาจาก ขณะที่ทำการเล่น จะมีเรื่องของแรงฉุดและแรงเสียดทานมาเป็นตัวแปร ที่ทำให้ค่าของ VTA เปลี่ยนไป....

 

          แนวทางของการปรับเซ็ต VTA

                 เมื่อตำแหน่งของ VTA สมบูรณ์แบบ เนื้อเสียงจะมีความเข้มข้นมีพลัง เสียงทุ้มจะมีน้ำหนักมีไดนามิก สังเกตจากกระเดื่องกลอง จะมีแรงประทะ และทอดตัวพอดี รับรู้ถึงแรงสั่นของหนังกลอง ซึ่งนั่นคือเสียงเปิดมีมวลมีรายละเอียด จะรับรู้ถึงตัวโน๊ตของเสียงกลาง.. ร หรือ ล ...เช่น รัก หรือ คล่อง ก็ต้องได้ยินอักขระของการกระดกลิ้น ไม่ใช่ ลัก หรือ ค่อง ปลายเสียงต้องมีรายละเอียดและรู้สึกผ่อนคลาย ที่เราเรียกว่า ฮาร์โมนิค เสียงของสแนร์ต้องรู้สึกมีตัวโน๊ต คือปลายเสียงที่ทอดยาวออกไปแบบเป็นเม็ดๆมีดีเทล ไม่ใช่ออกมาเป็นปื้นขาดหางเสียง.....สรุปก็คือ โทนบาล๊านส์ดี มีมวลไม่บาง เปิดโล่ง มีรายละเอียด ไม่ทึบ

    ............จากจุดนี้ ถ้าปรับมุม VTA ให้สูงขื้น ( ท้ายอาร์มยกสูง ) มวลเสียงจะค่อยๆโปร่งจนถึงบาง ขาดความเข้มข้น ขาดน้ำหนัก เสียงกลางจะเด่นออกมาจากย่านอื่น ขาดความสมจริง...ตรงกันข้าม ถ้าปรับมุม VTA ให้ต่ำลง ( ท้ายอาร์มต่ำ )เสียงจะค่อยๆหนา ดีเทลลดลง เวทีหุบ เนื้อเสียงจะมาเป็นปื้นๆอิมเมจของชิ้นดนตรีจะเบลอไม่ชัดเจน จนกระทั่งถึงทึบ....การปรับมุม VTA ที่ต่ำเกินไปจะมีผลเสียต่อคุณภาพเสียงมากกว่า VTA ที่สูงเกินไป

         การปรับจูน VTA มีความเปลี่ยนแปลงของคุณภาพเสียงอย่างแน่นอน ซึ่งเรากำลังพูดถึงการไปให้สุดๆของ performance ของเครื่องสำหรับกลุ่มคนเล่นเครื่องเสียง แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนฟังเพลง การปรับให้อาร์มบาลานซ์ตรงตามทฤษฎีได้แล้วก็ถือว่าเพียงพอ อย่างน้อยๆก็ได้แล้วประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของคุณภาพสูงสุด

       ยกตัวอย่างแนวคิดของเครื่องเล่นแผ่นเสียง Rega ที่โทนอาร์มของ Rega ทุกตัว ไม่สามารถปรับจูนตำแหน่ของ VTA และ Azimuth ได้เลย โดยแนวคิดของคุณ Roy Gandy เจ้าของ Rega ให้เหตุผลว่า ความแข็งแรงและความเสถียรของโทนอาร์มเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฉะนั้นโทนอาร์มที่สามารถปรับเลื่อนได้จึงมีโอกาสผิดเพี้ยนได้มากกว่า....ไม่ใช่ว่าไม่เห็นความสำคัญของตำแหน่ง VTA แต่ Rega ชดเชยด้วยการผลิตหัวเข็มเอง และเซ็ตอัพจากแล็ปของโรงงาน เพราะฉะนั้น จะไม่มีปัญหาในเรื่องของความแมทชิ่ง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Rega จึงเสียงดีทุกๆรุ่น นอกจากนั้นคุณ Roy Gandy ยังเป็นวิศวกรแนวศิลปิน ไม่ใช่พ่อค้า โครงสร้างของเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Rega จึงแตกต่างและได้รับการ R&Dมาอย่างเข้มข้นมีหลักวิชาการ ยกตัวอย่างเช่น แค่สายพานขับเคลื่อน Rega ต้องใชทุนวิจัยไปถึง 300,000 เหรีญ ฉะนั้นใครที่เล่นเครื่อง Rega จะได้ของที่มีคุณภาพคุ้มค่าอย่างแน่นอน....และอีกเหตุผลหนึ่ง Rega ได้วางตำแหน่งของผลิตภันท์ของตัวเองไว้สำหรับตลาดระดับกลาง...ฉะนั้นจึงเน้นในคุณภาพที่ใช้งานง่ายสะดวกและประหยัด Plug and Play ก็ใช้ได้เลย....

       แต่ถ้าจะไปให้สุด การ finetune VTA ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญระดับต้นๆ ของขั้นตอนการเซ็ตอัพเสียง

 

           

 

     

Visitors: 146,036